ของแพง อาจไม่ใช่ของดีเสมอไป แต่ของถูก มักหาดีไมค่อยได้
ของดีราคาปานกลางสมเหตุสมผลเหมาะสมกับค่าตัวต่างหากคือโลกแห่งความเป็นจริง
ของดีราคาถูก ใครๆก็อยากได้ แต่จะมีสักกี่คนที่หาสิ่งนั้นได้
โดยหลักปรัชญาการทำธุรกิจคือ ต้องการกำไรสูงสุด แต่ก็ไม่สามารถทำได้เช่นนั้น ไม่สามารถตั้งราคาตามใจได้ ( ยกเว้นธุรกิจผูกขาดบางอย่าง ) เนื่องจากมีคู่แข่งทางการค้ามากมาย ที่เป็นตัวช่วยจัดระบบ จัดกลไกราคา โดยอัตโนมัติ(ยกเว้นมีการแซกแซงตลาดหรือทุ่มตลาด)
คู่แข่งทางการค้าบางรายก็จ้องเล่นสงครามราคา (สงครามอมตะ) ขายตัดราคา ทำลายกลไกราคา ทำลายอาชีพเซลล์(ที่เป็นอาชีพสุจริต) ทำลายองค์ความรู้ แล้วในที่สุดก็พากันตาย ไม่มีใครได้อะไร เพราะสงครามไม่เคยให้คุณแก่ใคร ไม่ว่าจะเป็นสงครามแบบใด เรื่องใดก็ตาม
การหาของดี ราคาถูก ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ทั้งอินเตอร์เน็ตหรือสื่ออื่นๆบางทีเราก็เสียเวลาไปกับตรงนี้มากกว่าส่วนต่างของราคาด้วยซ้ำ ซึ่งเราลืมนึกไป เช่น สินค้า ตัวหนึ่ง ผู้ขายคนหนึ่งเสนอราคา 10,000 บาท อีกคนหนึ่งเสนอราคา 12,000 บาท พร้อมของแถมที่จำเป็นที่จะช่วยเสริมสมรรถนะการใช้งานของเครื่องหรือสินค้านั้นๆ เงินส่วนต่าง 2,000 บาท กับเวลาที่ต้องเสียไปมันคุ้มกันไหม? แล้วก็ไม่รู้จะเจออะไรในภายหน้า แน่นอนผู้ขายราคาต่ำกว่า ย่อมให้บริการหลังการขายได้น้อยกว่าแน่นอนเพราะทุกอย่างคือค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แค่ยกหูโทรศัพท์ก็ต้องจ่ายเงินแล้ว ไม่มีใครรับภาระตรงนี้ได้แน่นอน
อีกประการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ตัวสินค้า นั่นคือ การให้คำอธิบาย คำปรึกษา ข้อมูลทางเทคนิคต่างๆข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งตรงนี้ในบางกรณีมีมูลค่ามากกว่าราคาเครื่องหรือสินค้าด้วยซ้ำไป เพราะนี่คือทรัพย์สินทางปัญญาหรือกู้ดวิลล์ ที่มีค่ามากกว่าเครื่องมือหรือตัวสินค้าที่เป็นวัตถุมากมายมหาศาล
จ่ายน้อยก็ย่อมได้บริการอีกแบบหนึ่ง จ่ายมากก็ไม่แน่ว่าจะได้บริการที่ดี จ่ายพอดีๆ แล้วฟังทัศนคติ จากผู้ขาย ผู้ให้บริการ จะดีที่สุด อย่างน้อยก็ฟังจากการพูดคุยเจรจาได้ระดับหนึ่ง
อุปมาดังเช่น เวลาเราเจ็บป่วย ถ้าให้เลือกไปโรงพยาบาลรัฐบาล กับ โรงพยาบาลเอกชน จะไปที่ไหน ?
จ่ายน้อยกว่า แล้วเป็นไง ได้บริการแบบไหน ดีไม่ดี ถึงตาย
จ่ายมากกว่า แล้วเป็นไง คุ้มค่าไหม
ทั้งๆที่บางครั้ง ก็หมอคนเดียวกัน นี่คือ ความแตกต่าง
หลายอย่าง การจ่ายน้อยกว่าก็ไม่ใช่เรื่องดี คือ ดีตอนแรก ตอนจ่ายน้อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลายเป็นว่า ต้องจ่ายมากกว่าเดิม บางทีหลายเท่าตัว เช่น การใช้อะไหล่รถยนต์แท้ ซึ่งราคาก็ไม่ใช่ 2 เท่าของอะไหล่เทียม แต่ทนทานกว่า ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพกว่า ไม่มีปัญหากวนใจ ซ่อมแล้วจบ เพราะอย่าลืมว่ารถยนต์ มีชิ้นส่วนมากมาย วันนี้ซ่อมตรงนี้ อีก1 เดือนซ่อมอีกที่ ถ้าใช้อะไหล่เทียมบางที ปัญหามันเกิดขึ้นมาอีกที่จุดเดิม เท่ากับว่าต้องซ่อมหลายๆจุดพร้อมกัน เสียเงิน เสียเวลา หนักกว่าเดิม ประเด็นของการเสียเวลา ตรงนี้มีค่ามาก นอกจากนี้แล้ว ดีไม่ดี เกิดอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้อีก อย่างนี้เป็นต้น
การเลือกซื้อสินค้าก็เช่นกัน ถ้าเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยี ต้องใช้เทคนิคพิเศษต่างๆ ควรอย่างยิ่งที่ต้องซื้อจากผู้ที่มีความรู้เพียงพอที่ให้คำปรึกษาเราได้ เพราะไม่ใช่แค่การจ่ายเงิน รับของเท่านั้น ยังมีเทคนิคการใช้งานที่ต้องการคำแนะนำในอนาคตอีก ยกเว้นแต่ว่า เราเก่งแล้ว เสมือนเป็น การใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ขายไปในตัว ไม่ใช่ซื้อจากเซลล์ที่ไม่มีความรู้อะไรเลย พอมีปัญหาก็ช่วยเหลืออะไรเราไม่ได้เท่าที่ควร
ลองพิจารณาดูครับ จะเลือกแบบใด ที่เหมาะสมกับเรา
บทความโดย....
มนตรี ไล้สมบูรณ์
www.technology2029.com
www.obdthailand.com |